ISO 9000 กับวงการพระเครื่อง ตอนที่3(ตอนจบ)

มาตรฐาน TSTi

 สวัสดีครับ เรื่องมาตรฐาน ISO9000 ก็ดำเนินการมาถึงตอนที่ 3 แล้วนะครับ ซึ่งเป็นตอนจบแล้วครับ เนื้อหาพอสมควร ให้เพื่อนผู้ที่นิยมบูชาพระเครื่อง และเครื่องราง พอเข้าใจ ก็ถือว่าบรรลุถึงความตั้งใจของทีมงาน DNA สมเด็จโต ของเราแล้วครับ เพราะถ้าเขียนไปเรื่อยๆ  เดี๋ยวจะเป็นเล่มครับ(ฮ่าๆ)

           ตอนที่แล้วเราได้กล่าวถึงวงการพระใหม่ไปแล้วว่า ISO 9000 ควรจะมีบทบาทที่สำคัญในส่วนที่เป็นโรงงานรับจ้างผลิต ปั้มพระ หล่อพระ จะได้ประโยชน์มากที่สุด ลดปัญหาพระปลอม พระเกิน พระผิดพิมพ์ได้มากครับ จะได้ลดปัญหาไม่ให้เกิดข้อขัดแย้งในรุ่นลูกรุ่นหลาน และยิ่งไปฟังตามปากเทพในวงการพระ ยิ่งปวดหัวครับ (ทั้งๆที่ตัวเทพเองก็ไม่ทันยุค เผลอๆไม่เคยไปวัดด้วยซ้ำ) ทำไปทำมาพูดซะคนทั่วไปแทบจะไม่มีโอกาสได้มีพระแท้เลย ทั้งๆที่คนรุ่นพ่อ รุ่นปู่ย่าตายาย รับมาจากวัดแท้ๆครับ

           ทีนี้มาดูพระยุคเก่ากันบ้างครับ เช่น พระชุดเบญจภาคี ทั้งหลายในทุกประเภท และพระของครูบาอาจารย์เก่าแก่กันบ้างครับ สมัยนั้นกว่าที่ครูบาอาจารย์ หรือเจ้านาย หรือคหบดี หรือแม้แต่พระมหากษัตริย์ในยุคเก่าก่อน ท่านมีดำริจะสร้างพระแจกให้ทหาร ขุนนาง ข้าทาสบริวาร หรือประชาชนทั่วไปนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกระทำกันด้วยพิธียิ่งใหญ่ กำหนดฤกษ์ยามเป็นอย่างดี มีความตั้งใจสูง เพราะต้องการให้พระนั้นมีพุทธคุณ ปฏิหาริย์และเป็นที่พึ่งศรัทธาของประชาชน รวมถึงสืบต่อพระพุทธศาสนาด้วย จึงถือว่าเป็นศาสตร์และศิลป์อย่างยิ่งในการจัดทำพระแต่ละวาระ ดังนั้นการสร้างพระในยุคเก่านั้น มีความตั้งใจสร้างพระ ตั้งแต่ฤาษีผู้แก่กล้าคาถาอาคม พระครูบาอาจารย์ ได้พูดคุยปรึกษากัน ซึ่งตามบันทึกในประวัติศาสตร์ ล้วนแล้วแต่ต้องร่วมมือร่วมใจอย่างเต็มที่ จึงกำหนดให้คนที่ช่วยงาน และได้รับมอบหมายงาน ซึ่งส่วนใหญ่จะมีฝีมือด้านช่าง มาช่วยกันออกแบบแม่พิมพ์ตามที่ พระมหากษัตริย์ ครูบาอาจารย์ ฤาษี ที่ท่านมีนิมิต บอกเล่ามา และทำการแกะแม่พิมพ์ได้รูปร่างใกล้เคียงตามนั้น บางส่วนก็ไปทำหน้าที่ดูแลวัตถุดิบ บางส่วนก็ร่วมลงแรงกันทำการผสมวัสดุ จากนั้นก็ดำเนินเข้าสู่กระบวนการ หล่อพระ ปั้มพระกันออกมา ด้วยความตั้งใจ ร่วมแรงกันสูงสุด และได้นำพระมาปลุกเสก นั่งปรก อธิฐานจิต ให้เกิดพลังทางพุทธคุณอย่างแรงกล้า จนได้พระที่ศักดิ์สิทธิ์พร้อมที่จะปกป้อง คุ้มครอง ทหาร ประชาชน ก่อนที่จะนำมาแจกจ่ายครับ

          การสร้างพระในยุคเก่านั้น แม่พิมพ์ที่ได้จะมีหลายแม่พิมพ์ และเป็นการแกะด้วยฝีมือช่างหลายคน ดังนั้นแม่พิมพ์ และองค์พระอาจมีความคลาดเคลื่อนกันบ้าง ถือเป็นสิ่งที่ยอมรับกันได้ตามหลักการทางวิศวกรรม และก็ไม่ยากเกินไปที่สถาบันที่ทำการตรวจสอบพระเครื่องนั้นๆ จะสามารถพิสูจน์ได้ด้วยองค์ความรู้ 

และวิธีการ(knowledge and knowhow)  ซึ่งเป็นผลมาจากการเก็บข้อมูลในระดับปฐมภูมิ(primary data) ด้วยเวลาหนึ่ง และได้นำมาทำตามกระบวนการ โดย 

การสังเกตุ ตั้งสมมุติฐาน ทดลอง ทดสอบ เปรียบเทียบ จัดหา จัดทำเครื่องมือ ช่วยในการตรวจสอบ และได้มีการพัฒนาปรับปรุงข้อมูล เพื่อเพิ่มความแม่นยำเข้าหาความจริงที่สุด เราจะเรียกหลักการเหล่านี้ว่าการตรวจโดยหลักวิธีทางวิทยาศาสตร์ครับ (ไม่ได้เกิดจากปากเหล่าผู้วิเศษ ที่ตัดสินใจได้เองว่าแท้อย่างโน้น เก๊อย่างนี้)

          ผมนั้นมีความเชื่อว่า ในการค้นหาความจริง และการตรวจสอบพระเครื่องนั้น ท่านผู้อ่านทั้งหลาย โปรดสบายใจได้ครับ อาจารย์หลายๆท่านที่มีความรู้ และมีมาตรฐานของตัวเอง ต่างก็พยายามทำความเข้าใจ เก็บข้อมูล สังเกตุ ตั้งสมมุติฐาน ทดสอบ ซึ่งเป็นขั้นตอนกระบวนการทางวิทยาศาสตร์กันอยู่ในระดับหนึ่งแล้ว แตกต่างกันก็ตรงว่า องค์ความรู้ ที่ได้มาจากกระบวนการดังกล่าวนั้น จะได้ผลเป็นอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับความรู้ และประสบการณ์ของแต่ละท่านด้วย ผลลัพธ์อาจไม่เท่ากัน แต่ก็เปรียบได้เสมือนสูตรการทำอาหารที่กล่าวมาในตอนที่แล้ว(ความอร่อยหรือไม่อร่อย) หรือว่าง่ายๆ อาจารย์เหล่านี้ก็เปรียบเสมือนเจ้าของผลิตภันท์ในโรงงาน ต่างมีสูตร และวิธีการตัดสินใจในการรับรองพระของตัวเองเป็นสูตรประจำสำนักครับ 

           ซึ่งผลลัพธ์ท้ายสุดแล้วทุกที่ต่างก็ต้องก้าวไปในจุดหมายเดียวกัน คือความจริง สิ่งเหล่านี้สำหรับผมแล้วถือเป็นสิ่งที่มีคุณค่ายิ่งในวงการพระเครื่องของไทยเราครับ ที่พยายามศึกษากันอย่างจริงจัง เพื่อรักษา อนุรักษ์พระเครื่องยุคเก่า ซึ่งเป็นเป็นศิลปะ พุทธศิลป์ของไทยเราครับ (ป้องกันไม่ให้บุคคลที่เปรียบตัวเองดั่งเซียน มาตัดสินพระแท้ เก๊ ด้วยสี่งที่จำๆกันมา) ดังนั้นเราจึงไม่จำเป็นต้องให้ต่างชาติมารับรองการตรวจสอบของไทยเราหรอกครับ เพราะพระเครื่อง เป็นสิ่งพิเศษที่มีต้นกำเนิดวัฒนธรรมเฉพาะสำหรับคนไทยเราเท่านั้น ตั้งแต่อดีตเป็นต้นมา จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่คนไทยรุ่นเรา รุ่นหลังเราจะต้องค้นหา พัฒนามาตรฐานให้สูงยิ่งขึ้น ต่อไปด้วยคนไทย ไม่ใช่เชื่อตามปากคนอื่น(เทพ เซียน ต่างๆ) และต่างชาตินั้นเองย่อมไม่สามารถมีความรู้ ความเข้าใจในพุทธศิลป์ ศิลปะ และพุทธคุณ ของพระเครื่อง ของไทยเราครับ

 

            สรุปได้ว่า การรับรองมาตรฐาน ISO9000 พระเครื่องนั้น ทำได้แค่รับรองกระบวนการทำงาน วิธีการทำงาน เอกสาร และเครื่องมือเท่านั้น ระบบ ISO9000 ไม่สามารถ(เน้นย้ำครับ)รับรององค์ความรู้ ในการตรวจสอบ พระแท้ พระเก๊ ได้ครับ ไม่ใช่แค่เฉพาะพระเครื่อง แต่เป็นทุกวงการอุตสาหกรรมครับ ISO จะรับรองเฉพาะการทำงาน และขั้นตอนคุณภาพ ที่ทำได้โดยเอกสารเท่านั้นครับ ไม่สามารถรับรองพระแท้ หรือเก๊ หรืออายุได้ และไม่สามารถรับรองในเชิงเปรียบเทียบได้ว่าอะไรดีกว่าอะไรได้ครับ และสิ่งที่สำคัญเราไม่ได้ผลิตพระใหม่ออกมา เป็นพระตั้งแต่รุ่นบรรพบุรษเราแต่โบราณ เรามีหน้าที่หาความจริงที่ถูกต้อง มาเผยแผ่บารมีท่าน เพื่อให้คนไทยเราไม่หลงทางในการเก็บสะสม และบูชาเท่านั้น

            ดังนั้นความเห็นส่วนตัวผมในฐานะอดีตที่ปรึกษา ในการทำมาตรฐาน ISO9000 ร่วมในโครงการของหน่วยงานรัฐบาลนั้น การทำมาตรฐาน ISO9000 ก็เป็นสิ่งที่ดีสำหรับโรงงานการผลิต หรือธุรกิจ ที่ต้องใช้ขั้นตอนระบบงานบริหารคุณภาพ และการฝึกอบรม แต่ถ้าต้องการทำเพื่อให้ขั้นตอนการตรวจสอบมีความชัดเจนก็พอทำได้ แต่ความเป็นจริงแล้วไม่มีความจำเป็นเลยสำหรับการตรวจสอบพระเครื่องโบราณเก่าของไทยเรา ที่ต้องใช้องค์ความรู้ และประสบการณ์ ของอาจารย์ หลายๆท่าน ผมนั้นมีความเป็นห่วงว่าแทนที่เราหวังได้ใช้ประโยชน์และได้ชื่อเสียงจากการทำ ISO9000 แต่ผลเสียท่านต้องกลับกลายเป็นว่าต้องมาเสียเงินจำนวนมากให้บริษัทต่างชาติเป็นค่าออกใบรับรองให้ และต้องเสียเงินตลอดไปตราบที่ยังใช้ ISO อยู่เสมือนถูกครอบไว้ ด้วยมาตรฐานต่างชาติ (เจ็บปวดกันมาแล้วในทุกวงการ) แถมให้ต่างชาติเอาไปโฆษณาเสียอีก  ว่าได้ออกใบรับรองกระบวนการตรวจสอบในวงการพระเครื่องไทยกันอีก ทั้งๆที่จริงๆแล้ว บริษัทเอกชนฝรั่งที่ออกใบรับรองเหล่านั้นไม่รู้เรื่องอะไรเลยเกี่ยวกับพระเครื่องไทยแม้แต่น้อยด้วยซ้ำไป

            ท้ายนี้ การออกใบรับรอง และการตรวจสอบพระเก่า ของท่านสมาชิกนั้น สถาบันพระแท้สมเด็จโตประเทศไทย โดย อาจารย์อร่าม เริงฤทธิ์ และทีมงานนั้น ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งในวงการพระเครื่องไทยเรา พยายามพัฒนายกระดับพระเครื่องไทย ให้ได้มาตรฐานระดับนานาชาติ โดยใช้หลักวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ที่ทั่วโลกเข้าใจและใช้กัน คือ มีกระบวนการ เก็บข้อมูล ปรับปรุงข้อมูล การทดลองการหาเหตุผล การพิสูจน์ และการตรวจสอบให้แม่นยำเข้าหาความจริงมากที่สุด (ด้วยองค์ความรู้ที่สะสม และประสบการณ์ที่กลั่นกรองมา) ซึ่งการตรวจรับรอง ทางวิทยาศาสตร์นั้น เพื่อที่จะให้ท่านที่ได้สะสมพระมาตั้งแต่รุ่นเก่าก่อน หรือเริ่มสะสมในปัจจุบันก็ตาม ได้มีพระแท้ ไว้บูชา และจะเป็นแนวทาง ( จากการที่นำพระมาตรวจสอบ และได้เห็นภาพขยายเนื้อพระ เวลาตรวจสอบ เปรียบเสมือนท่านได้เรียนรู้ สะสมประสบการณ์) ให้ท่านมีความเข้าใจในการเก็บสะสมพระต่อไป และท่านยังสามารถคัดกรองพระของท่านในเบื้องต้นได้ดียิ่งขึ้น(เพราะมีตัวอย่างให้เห็น)และเราหวังเป็นอย่างยิ่ง ที่จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้พระปลอม ค่อยๆหมดไปจากตลาด เพราะทุกๆท่านจะเริ่มมีภูมิคุ้มกัน และสามารถคัดแยกพระที่ไม่ดีออกได้ในเบื้องต้นได้นั่นเองครับ

ท่านใดที่ยังตามไม่ทัน ขอให้ตามอ่านย้อนหลังได้ตามนี้ครับ

ตอนที่1 https://somdejamulet.org/2021/05/27/iso-9000-thaiamulet-ep1/

ตอนที่2 https://somdejamulet.org/2021/05/27/iso-9000-thaiamulet-ep2